ปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 7 ทศวรรษแห่งการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง …
สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งในสมรภูมิเอเชียก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น สงครามมหาเอเชียบูรพา (Greater East Asia War) สงครามแปซิฟิก (Pacific War) สงครามต่อต้านญี่ปุ่น (抗日战争) แล้วแต่ห้วงเวลาของสงคราม และประสบการณ์ของผู้คนในแต่ละประเทศ
ในห้วงเวลาสิบกว่าปีมานี้ ผมมีโอกาสเดินทางไปยังเมืองนานกิง (หนานจิง) สามครั้ง โดยทุกครั้งผมล้วนมีโอกาสได้ไปเยือน หอที่ระลึกการสังหารหมู่ที่หนานจิง (南京大屠杀纪念馆) สถานที่ซึ่งบันทึกถึงความโหดร้ายอันแสนสาหัสของสงคราม ที่อาจจะเรียกได้ว่าเปลี่ยน “ผืนแผ่นดินอันงดงาม” ให้เป็น “นรกบนดิน”

ย้อนอดีตไปเมื่อปี ค.ศ.1937 หรือ 78 ปีก่อน หรือ 8 ปีก่อนสงครามโลกจะสิ้นสุด นานกิงถือเป็นเมืองหลวงของประเทศจีนที่มีประชากรหนาแน่นถึงหนึ่งล้านคน ทั้งยังมีสถานะเป็น 1 ใน 7 เมืองหลวงที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์จีน ก่อนที่ กองทัพญี่ปุ่นจะเริ่มรุกคืบเข้ามาปิดล้อมเมืองแห่งนี้ในช่วงปลายปี และทำให้เมืองหลวงแห่งนี้แตกสลายภายในระยะเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์
ความโหดร้ายของสิ่งที่กองทัพญี่ปุ่นทำที่นานกิงนั้นคงไม่ต้องพูดถึงซ้ำ เพราะ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีคนจีนเสียชีวิตถึงกว่า 300,000 คน ส่วนความเสียหายนั้นมิอาจประเมินค่าได้ มีหลักฐานเป็นบันทึก ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว มากมายมหาศาล ส่วนตัวผมเองก็เคยเขียนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้แล้วในบทความเรื่อง “โศกนาฎกรรมแห่งหนานจิง” [1]

สำหรับคนจีน แน่นอนว่า “โศกนาฎกรรมที่นานกิง” เป็นหนึ่งในบาดแผลฉกรรจ์ของสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นความเจ็บปวดและความเจ็บแค้นที่ยากจะลืมเลือน ส่วนคนญี่ปุ่นเหตุการณ์ที่นานกิงเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นทั่วไปไม่กล่าวถึงกันนัก และทางญี่ปุ่นเองก็ยังตัดทอนเอาเนื้อหาส่วนนี้ออกจากบทเรียนประวัติศาสตร์ของนักเรียน มากกว่านั้นผู้นำของญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยยังปฏิเสธความเป็นจริงที่เกิดขึ้นที่นานกิงอีกด้วย หรือไม่ก็ใช้คำว่า “เสียใจ” แต่ไม่ “ขอโทษ”
ทำให้จนทุกวันนี้แม้เหตุการณ์จะผ่านมากว่า 80 ปี สงครามจะสิ้นสุดมา 70 ปีแล้ว คนญี่ปุ่นก็ยังถูกประณามจากเพื่อนบ้านว่าพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์
คนญี่ปุ่นถือว่าวันที่ 15 สิงหาคม 2488 (ค.ศ.1945) เป็น วันแห่งความพ่ายแพ้ คือ วันสิ้นสุดสงคราม หลังการออกอากาศพระสุรเสียงของพระจักรพรรดิโชวะ ส่วนคนจีนถือว่าวันที่ 9 กันยายน ปีเดียวกันนั้นเป็นวันประกาศชัยชนะในสงคราม โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน 2558 (ค.ศ.2015) ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนก็เพิ่งจัดให้มีการเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี วันแห่งชัยชนะเหนือญี่ปุ่น โดยกองทัพปลดแอกประชาชนจีนมีการขนทหาร และยุทโธปกรณ์ครั้งยิ่งใหญ่มาแสดงให้ชาวโลกเห็น ณ บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน
จีนบอกว่าสงครามต่อต้านญี่ปุ่นที่กินเวลายาวนานกว่า 8 ปี นั้น ทำให้มีชาวจีนเสียชีวิตไปมากกว่า 35 ล้านคน ส่วนความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมก็คิดเป็นมูลค่ามากถึง 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในส่วนของครอบครัวผมในฐานะคนไทยที่มีเชื้อสายเป็นลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล ก็ถือว่าบรรพบุรุษได้มีส่วนเกี่ยวพันกับเหตุการณ์นี้โดยตรง อ้างอิงจากบันทึกของ “ยีกง” หรือ น้องชายคุณปู่ ลิ่มเตียม (วิเชียร ลิ้มทองกุล) ที่เคยบันทึกเรื่องนี้ไว้ในคำไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของ หยิวเจียว (ประสาท ลิ้มทองกุล) และลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์จีน ศิรินคร เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2528 ซึ่งเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า
“… น้องได้กลายเป็นธุลีไปแล้ว คงเหลือชื่อจารึกไว้ในสังคม พวกเราพี่น้องเป็นเด็กเกิดที่จังหวัดสุโขทัย ขณะนั้นคุณพ่อค่อนข้างยากจนจึงจัดส่งลูกๆ กลับไปเกาะไหหลำ ให้ญาติทางโน้นช่วยดูแล ระหว่างอยู่ที่เกาะไหหลำได้รับการศึกษาอบรมตามจารีตประเพณีจีนมาตลอด พี่ใหญ่หยิวตวน (ต่วน ลิ้มทองกุล) ศึกษาที่โรงเรียนมัธยมเค่งใฮ้ น้องหยิวเจียวเรียนที่โรงเรียนมัธยมกิ๋วซัว ได้รับการเลี้ยงดูจากคุณอาหญิงมาด้วยกันจึงมีความใกล้ชิดสนิทสนมกว่าพี่น้องทุกคน ผมได้กลับมาเมืองไทย และเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศจีนอีกครั้ง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกขึ้นเมืองจีน ผมในฐานะลูกจีนคนหนึ่ง จึงได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยหวังปูแห่งประเทศจีน พอเรียนสำเร็จก็ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติการร่วมกับเสรีไทย น้องหยิวเจียวเป็นคนหนึ่งที่อาสาเข้าช่วยเหลืออย่างไม่คิดชีวิต ผลปฏิบัติงานเยี่ยมยอดอันเป็นการแสดงถึงความรักชาติ และความเสียสละอย่างใหญ่หลวง …” [2]
บาดแผล ความสูญเสีย ชีวิต และเลือดเนื้อที่คนรุ่นปู่ของผมต้องสูญเสียไป ทำให้เราไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่า ทำไมคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นก่อนถึงประกาศ “ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ” กับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเป็นญี่ปุ่นทั้งปวง อย่าว่าแต่คนญี่ปุ่น รถยนต์ญี่ปุ่น หรือข้าวของเครื่องใช้ เพราะแม้แต่อาหารญี่ปุ่นก็ยังเป็นเรื่องต้องห้าม
หลายปีก่อนผมจำได้ว่า ในหมู่นักธุรกิจชาวไทยมีคำแนะนำว่า เวลาไปเลี้ยงคู่ค้าหรือผู้ใหญ่ชาวจีน โดยเฉพาะชาวจีนที่มีอายุมากกว่า 50-60 ปีขึ้นไป พยายามหลีกเลี่ยงการนัดหมายที่ร้านอาหารญี่ปุ่นก็ด้วยเหตุผลนี้เอง
กระนั้นกระแสความเคียดแค้น-ร่องรอยโกรธเคืองกับความเป็นญี่ปุ่นก็ค่อยๆ เจือจาง และลดน้อยลงตามลำดับ เมื่อเวลาผ่านเลยไป ผู้คนเปลี่ยนผ่านจากรุ่นปู่ สู่รุ่นพ่อ จนมาถึงรุ่นผม
หมายเหตุ :
[1] โศกนาฎกรรม แห่ง หนานจิง โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล 23 กันยายน 2547
http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9470000054927
[2] โรงเรียนนายร้อยหวังปู หรือ โรงเรียนนายร้อยหวงผู่ (黄埔军校; Huangpu Military Academy) เป็นสถาบันทางการทหารที่ก่อตั้งขึ้นโดยพรรคก๊กมินตั๋ง เมื่อปี 2467 (ค.ศ.1924) เพื่อเป็นกำลังรบสำคัญให้กับจีนในยุคสาธารณรัฐ และต่อมาเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของสงครามต่อต้านญี่ปุ่น
No Comments so far ↓
Like gas stations in rural Texas after 10 pm, comments are closed.